พระอริยสงฆ์ผู้เป็นตนบุญ ผู้มีชาติกำเนิดเป็นเจ้านายชั้นสูงของทางเหนือ แต่มีจิตใจใฝ่ในพระธรรม
พระอริยสงฆ์ผู้เป็นตนบุญ ผู้ที่มีความพรั่งพร้อมด้วยลาภยศ สรรเสริญ มาตั้งแต่เกิด ผู้มีชาติกำเนิดเป็นเจ้านายชั้นสูงทางเหนือ แต่มีจิตใจใฝ่ในพระธรรม จนต้องขอใช้ชีวิตที่เหลือภายใต้ร่มกาสาวพัสต์ จนได้รับการยกย่องเป็นพระอริยสงฆ์แห่งล้านนา เป็นเจ้าพระคุณท่านไหนไปไม่ได้ นอกจาก “หลวงพ่อเกษม เขมโก”

คำทำนายของครูบาศรีวิชัย
เมื่อราว ๆ พ.ศ.๒๔๖๗ นักบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัย เดินทางไปวัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง เพื่อไปบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง ได้ทำนายเอาไว้ว่า “วันหน้า ตนบุญจะมาเกิดในเมืองเวียงละกอน บ่าเดียวยังน้อยอยู่” ชาวลำปางจึงเฝ้าคอยการมาของตนบุญอย่างใจจดใจจ่อ
คำว่า “ตนบุญ” หมายถึง นักบุญ นักบวช ที่มีความเคร่งครัด มีวัตรปฏิบัติน่าศรัทธาเลื่อมใส
ประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก
หลวงพ่อเกษม เขมโก กำเนิดเมื่อวันพุธที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นบุตรชายคนแรกของเจ้าน้อยหนู และเจ้าแม่บัวจ้อน เมื่อให้กำเนิดลูกชายคนแรกจึงตั้งชื่อให้ว่า “เกษม” เนื่องด้วยเจ้าน้อยหนู และเจ้าแม่บัวจ้อน มีเชื้อสายของเจ้าผู้ครองเมือง จึงทำให้เด็กน้อยเกษมได้รับการยกย่องให้มีศักดิ์เทียบเท่ากับเจ้าชายทางเหนือ
ในวัยเด็กเจ้าเกษม เป็นเด็กรูปร่างเล็ก ผิวขาว แต่แข็งแรง เฉลียวฉลาด เรียนจบชั้นประถมที่ ๕ ของโรงเรียนบุญทวงศ์อนุกุล อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เริ่มบวชครั้งแรกเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ด้วยเหตุที่ว่าเจ้าอาวาสวัดป่าดัวะ จังหวัดลำปาง มรณภาพ เป็นการบวชหน้าไฟเป็นระยะเวลา ๗ วัน
อีกสองปีต่อมาเจ้าเกษมได้บวชบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบุญยืน โดยฝากตัวเป็นศิษย์กับท่านครูบาเหมย (สุธรรม) เจ้าอาวาสวัดบุญยืน สามเณรเกษมมีปฏิปทา วัตรปฏิบัติที่งดงามเรียบร้อย ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย และพระปริยัติธรรม ทำให้สอบนักธรรมชั้นตรีได้ตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี

เมื่อย่างเข้าอายุ ๒๑ ปี สามเณรเกษมได้ขออนุญาตกับโยมแม่ อุปสมบทเป็นพระภิกษุศึกษาพระธรรมต่อ ได้รับฉายาว่า “เขมโก” หลังอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนา เพื่อดำเนินตามรอยพระพุทธเจ้าเพื่อให้เข้าถึงพระธรรม
โดยการถือวัตรปฏิบัตรธุดงควัตร เมื่อการปฏิบัติก้าวหน้า หลวงพ่อจึงออกธุดงค์กับท่านครูบาแก่น อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง ส่วนในช่วงที่ไม่ได้ออกธุดงค์ จะฝึกปฏิบัติโสสานิกธุดงค์ (การถืออยู่ในป่าช้าเป็นวัตร)
หลวงพ่อเกษม เขมโก ออกเดินธุดงค์ไปปฏิบัติในป่าช้าหลาย ๆ ที่ มีเรื่องอัศจรรย์มากมาย จนกระทั่งออกธุดงค์มาจนถึงที่ป่าช้าประตูม้า เป็นสถานที่ที่มีบรรยากาศเงียบสงัด สงบ ทำให้หลวงพ่อเกษม เขมโก ตัดสินใจเลือกเป็นสถานที่ปฏิบัติโสสานิกธุดงค์สมถกัมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานเรื่อยมา
ในสถานที่แห่งนี้หลวงพ่อเกษม ได้ให้ชื่อใหม่ว่า “สุสานไตรลักษณ์” และที่นี่เองเป็นที่หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้ละสังขารลงเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ ในเวลา ๑๙.๔๐ น. สิริรวมอายุ ๘๓ ปี ๑ เดือน ๑๗ วัน ๖๓ พรรษา ศิษยานุศิษย์ได้เก็บรักษาสังขารของหลวงพ่อเกษม เขมโก ไว้ที่ ณ สุสานไตรลักษณ์ เพื่อให้ศิษยานุศิษย์และญาติโยมที่เคารพศรัทธาได้เข้ามากราบนมัสการ

ปฏิปทาและจริยาวัตรที่โดดเด่นของหลวงพ่อเกษม เขมโก
- ความอ่อนน้อมถ่อมตน
- ความกตัญญูรู้คุณ
- ความสันโดษ มักน้อย
- ความเมตตากรุณาต่อสรรพสิ่ง
- ความไม่ถือตัว อารมณ์ขัน
- ความกล้าแข็งของอำนาจจิต “แยกกายออกจากจิต”
- ความมุ่งมั่นตั้งใจและความอดทนอดกลั้น

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษม เขมโก
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษม มากมายกว่า ๓๐๐ รุ่น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเข้ามาเป็นบางรุ่นเท่านั้น
พระผงสิงห์เกสร พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นพระเครื่องรุ่นแรกที่หลวงพ่อเกษม ได้เข้าพิธีพุทธาภิกเษกอธิฐานจิต

เหรียญระฆังศิริมงคลเสาร์ห้า หรือเหรียญวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พุทธานุภาพช่วยให้แคล้วคลาดและช่วยให้เด่นดังเหมือนเสียงระฆัง

พระผงธาตุอรหันต์ สร้างขึ้นเป็นรุ่นพิเศษวิสาขบูชา ๒๕๓๘ มีส่วนผสมมวลสารของกระดูกหลวงพ่อเกษม

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเกษม เขมโก มีพุทธคุณที่โดดเด่น หลายทาง ก็คือแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย อุบัติเหตุ สยบสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ โจรภัย มีเมตตามหานิยม และทำให้ค้าขายเจริญรุ่งเรือง
- เปิดประวัติ ‘หลวงพ่อคูณ’ พระเกจิชื่อดังจากวัดบ้านไร่
- รวมคาถาขอโชคขอลาภ
- เปิดตำนานพระพิฆเนศ (มหาเทพแห่งความสำเร็จ)
สรุป
ถึงแม้จะไม่รู้ว่าคำทำนายของครูบาศรีวิชัย ที่จะมีตนบุญจะมากำเนิดที่จังหวัดลำปาง คือใคร แต่หลวงพ่อเกษม เขมโก ก็มีปฏิปทา วัตรปฏิบัติที่งดงามเรียบร้อย เคร่งครัด จนเป็นที่เลื่อมใสเคารพศรัทธาของชาวลำปาง